การส่งบทความ
หลักการ/วิสัยทัศน์
การประชุมทางวิชาการระดับชาติด้านคณิตศาสตรศึกษาเป็นกิจกรรมทางวิชาการของสมาคมคณิตศาสตรศึกษาที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ตามเจตณารมย์ของสมาคมคณิตศาสตรศึกษาที่เริ่มต้นจัดตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2557 เพื่อต่อยอดจากการเริ่มต้นการเปลี่ยนแปลงด้านคณิตศาสตรศึกษาครั้งสำคัญของประเทศไทย ด้วยการก่อตั้งกลุ่มวิจัยด้านคณิตศาสตรศึกษาภายใต้สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) เมื่อปี พ.ศ. 2546 และมีการจัดตั้งศูนย์วิจัยคณิตศาสตรศึกษา ซึ่งเป็นศูนย์วิจัยเฉพาะทางของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ในปี พ.ศ. 2547 รวมไปถึงการก่อตั้งหน่วยวิจัยด้านคณิตศาสตรศึกษาภายใต้ศูนย์ความเป็นเลิศด้านคณิตศาสตร์ ในปี พ.ศ. 2553 อีกด้วย การประชุมวิชาการระดับชาติด้านคณิตศาสตรศึกษาจึงเป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นเพื่อพื้นที่สำหรับคณาจารย์ ครู นักศึกษาและผู้สนใจจากทั่วประเทศ ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ในหัวข้อที่เป็นทิศทางใหม่ๆ งานวิจัย และสร้างสรรค์กิจกรรมที่จะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาคณิตศาสตรศึกษาในประเทศไทยให้ยั่งยืน
ขอบเขตกิจกรรม
การประชุมวิชาการระดับชาติด้านคณิตศาสตรศึกษาในแต่ละปี ประกอบไปด้วยกิจกรรมที่หลากหลายด้วยจุดประสงค์ให้ครอบคลุมการพัฒนางานด้านคณิตศาสตรศึกษา ดังนี้
1. การบรรยายพิเศษจากผู้บรรยายหลัก (Keynote Speaker) ซึ่งเป็นวิทยากรรับเชิญทั้งในและต่างประเทศ ที่มีความเชี่ยวชาญด้านคณิตศาสตรศึกษา เพื่อกำหนดทิศทางงานด้านคณิตศาสตรศึกษาของประเทศไทยให้เชื่อมต่อกับชุมชนในระดับนานาชาติ ในขอบเขตงานที่อยู่ภายใต้องค์กรด้านคณิตศาสตรศึกษาระดับโลก
2. การเสวนาด้านคณิตศาสตรศึกษา ซึ่งอาจเป็นการเสวนาโดยนักคณิตศาสตร์ (Mathematician) นักคณิตศาสตรศึกษา (Mathematics Educator) ทั้งในและต่างประเทศ เครือข่ายคณิตศาสตรศึกษาภายใน ประเทศ ซึ่งอาจเป็นนักการศึกษา (Teacher Educator) รุ่นใหม่ นักวิจัย (Researcher) ครู และบุคลากรทาง การศึกษาจากงานภาคปฏิบัติเกี่ยวกับการเรียนการสอนคณิตศาสตร์ เพื่อนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับประวัติ ความเป็นมา และการเปลี่ยนแปลงคณิตศาสตรศึกษา ความคาดหวังต่อคณิตศาสตรศึกษา ผลของการปฏิบัติเกี่ยวกับการเรียนการสอนคณิตศาสตร์ด้วยนวัตกรรม หรือตัวอย่างความสำเร็จภาคปฏิบัติ (Best Practice) เป็นต้น
3. การนำเสนอผลงานวิจัย ทั้งการนำเสนอผลงานแบบบรรยาย (Oral Presentation) และแบบโปสเตอร์ (Poster Presentation) เพื่อเผยแพร่ผลงานวิจัยทั้งของนิสิต นักศึกษา ครูประจำการ นักวิจัย นักวิชาการ คณาจารย์ บุคลากรทางการศึกษา และบุคคลทั่วไป
4. การเปิดชั้นเรียน (Open Class) เพื่อการเรียนรู้ร่วมกันเกี่ยวกับการปฏิบัติการสอนในชั้นเรียนคณิตศาสตร์ (Classroom Teaching Practices) ผ่านการเข้าร่วมสังเกตชั้นเรียนและสะท้อนผลชั้นเรียน ซึ่งเป็นแนวคิดที่สำคัญของการศึกษาชั้นเรียน (Lesson Study) ที่กลุ่มวิจัยด้านคณิตศาสตรศึกษานำมาปรับใช้ในประเทศไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2542 เป็นต้นมา
5. กิจกรรมสานสัมพันธ์คณิตศาสตรศึกษา เป็นกิจกรรมเชิงสังคมเพื่อการพบปะพูดคุย ทำความรู้จัก แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันระหว่างสมาชิกสมาคมคณิตศาสตรศึกษาที่เข้าร่วมการประชุมทางวิชาการ และสร้างความคุ้นเคยกันให้กับสมาชิกใหม่ (Newcomer) รวมถึงการเรียนรู้ระหว่างกันกับของสมาชิกของชุมชนคณิตศาสตรศึกษาของประเทศไทย
ขอบเขตผลงานวิจัย (Research Article)
ปรัชญาทางด้านคณิตศาสตรศึกษา ทฤษฎีทางด้านคณิตศาสตรศึกษา การบูรณาการข้ามศาสตร์ การพัฒนาการจัดการเรียนการสอนคณิตศาสตร์ การคิดทางคณิตศาสตร์ กระบวนการเรียนรู้ของผู้เรียน การพัฒนาวิชาชีพครูและครุศึกษา ชุมชนการเรียนรู้เชิงวิชาชีพ การประเมิน นวัตกรรม การนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการพัฒนา หลักสูตรและนโยบาย เป็นต้น
การเปิดรับและเผยแพร่ผลงาน
การประชุมวิชาการระดับชาติด้านคณิตศาสตรศึกษาจะประกาศรับผลงานวิจัยล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 6 เดือนก่อนวันที่กำหนดจัดการประชุมในแต่ละปี ผู้ที่ประสงค์จะนำเสนอผลงานวิจัยไม่ว่าจะเป็นการนำเสนอแบบบรรยายหรือการนำเสนอแบบโปสเตอร์สามารถเขียนบทคัดย่อ (Abstract) ตามรูปแบบที่สมาคมคณิตศาสตรศึกษากำหนด และจัดส่งเฉพาะบทคัดย่อตามระบบการส่งผลงาน เมื่อกรรมการกลั่นกรอง (Reviewer) พิจารณาแล้วจะประกาศแจ้งผลการพิจารณาในระบบการส่งผลงานในวันที่ที่กำหนดไว้สำหรับการประกาศแจ้ง
การประกาศแจ้งผลการพิจารณาผลคัดย่อจะประกาศให้ทราบว่าผลงานนั้นๆ ผ่านหรือไม่ผ่าน สำหรับผลงานที่ผ่านจะได้รับการแจ้งด้วยว่าให้นำเสนอแบบบรรยายหรือแบบโปสเตอร์ พร้อมกับแจ้งให้เจ้าของผลงานแก้ไขรายละเอียดตามข้อเสนอแนะของผู้ทรงคุณวุฒิ เมื่อเจ้าของผลงานแก้ไขแล้วจะต้องส่งผลงานเข้าในระบบอีกครั้งหนึ่งภายในวันที่ที่กำหนดไว้ สำหรับผู้ที่จะต้องนำเสนอผลงานแบบโปสเตอร์ให้ส่งบทคัดย่อฉบับแก้ไขพร้อมแบบแสดงรายการแก้ไขผลงานเพื่อแสดงรายละเอียดการแก้ไขผลงานตามข้อเสนอแนะ และส่งไฟล์โปสเตอร์ขนาด A0 (บันทึกไฟล์เป็น pdf) เข้าในระบบส่งผลงาน
สำหรับผู้ที่จะต้องนำเสนอผลงานแบบบรรยายให้ส่งบทคัดย่อฉบับแก้ไขพร้อมแบบแสดงรายการแก้ไขผลงานเพื่อแสดงรายละเอียดการแก้ไขผลงานตามข้อเสนอแนะ และส่งบทความวิจัยฉบับสมบูรณ์เข้าในระบบส่งผลงานเพื่อให้ผู้ทรงคุณวุฒิพิจารณาในการนำเสนอผลงานแบบบรรยาย พร้อมกับแจ้งความประสงค์ในระบบส่งงานด้วยว่าประสงค์จะเผยแพร่บทความวิจัยฉบับสมบูรณ์ในเอกสารหลังการประชุม (Proceedings) หรือในวารสารสมาคมคณิตศาสตรศึกษา (JTSMEd) เมื่อเสร็จสิ้นการนำเสนอผลงานแล้ว ให้เจ้าของผลงานแก้ไขบทความวิจัยฉบับสมบูรณ์ตามข้อเสนอแนะของผู้ทรงคุณวุฒิ ส่งบทความวิจัยฉบับสมบูรณ์ที่แก้ไขแล้วพร้อมแบบแสดงรายการแก้ไขผลงานเพื่อแสดงรายละเอียดการแก้ไขผลงานตามข้อเสนอแนะเข้าในระบบส่งผลงาน กรรมการกลั่นกรอง (Reviewer) จะพิจารณาบทความวิจัยฉบับสมบูรณ์ที่แก้ไขแล้ว จึงจัดพิมพ์เฉพาะผลงานที่มีการแก้ไขเรียบร้อยสมบูรณ์และเป็นไปตามข้อกำหนดการเผยแพร่ผลงานทางวิชาการของสมาคม ทั้งการจัดพิมพ์ในเอกสารหลังการประชุม (Proceedings) หรือในวารสารสมาคมคณิตศาสตรศึกษา (JTSMEd) โดยจะแจ้งให้เจ้าของผลงานที่ประสงค์จะเผยแพร่ผลงานในวารสารฯ นำบทความวิจัยฉบับสมบูรณ์ไปดำเนินการตามกระบวนการของระบบ THAIJO ต่อไป
ขั้นตอนการเปิดรับและเผยแพร่ผลงานสรุปได้ตามแผนผังต่อไปนี้
![]()
การกลั่นกรองผลงานวิจัย
ผลงานวิจัยที่ส่งเข้าในระบบจะได้รับพิจารณาจากคณะกรรมการกลั่นกรอง (Reviewer) จำนวนไม่น้อยกว่า 2 ท่าน ที่มีความเชี่ยวชาญในสาขาวิชาที่เกี่ยวข้อง โดยการพิจารณาบทความจะใช้รูปแบบที่ผู้พิจารณาไม่ทราบชื่อหรือข้อมูลของผู้เขียนบทความ และผู้เขียนบทความไม่ทราบชื่อผู้พิจารณาบทความ (Double – Blind Peer Review)
ข้อกำหนดการส่งผลงานวิจัย
ในการส่งบทความวิจัยเพื่อรับการพิจารณาเผยแพร่ ผู้เขียนต้องตรวจสอบและปฏิบัติตามรายการข้อกำหนดต่อไปนี้ครบทุกข้อ หากมีการพบว่าข้อผู้เขียนละเมิดข้อกำหนดเหล่านี้ผลงานวิจัยที่ผู้เขียนส่งเข้าในระบบสามารถถูกยกเลิกได้ตลอดทุกขั้นตอนตามกระบวนการของการพิจารณาและเผยแพร่ผลงาน
1. บทความวิจัยนี้ไม่เคยได้รับการตีพิมพ์มาก่อน และไม่ได้อยู่ระหว่างการพิจารณาเพื่อเผยแพร่ในที่ประชุมทางวิชาการหรือวารสารอื่นใด
2. รายละเอียดของบทความวิจัยเป็นไปตามข้อกำหนดทางด้านรูปแบบและบรรณานุกรมที่ระบุไว้ใน คำแนะนำสำหรับผู้เขียน (Author Guidelines)
3. บทความนี้ไม่ละเมิดลิขสิทธิ์หรือจริยธรรมทางวิชาการของผู้อื่น หากภายหลังพบว่ามีการละเมิดลิขสิทธิ์หรือจริยธรรมทางวิชาการ เจ้าของผลงานยินดีปฏิบัติตามมติของกองบรรณาธิการโดยไม่มีเงื่อนไข
แบบฟอร์ม (Template)
ดาวน์โหลด Abstract Template: WORD ,PDF
1. บทคัดย่อแสดงถึงความรวมอย่างกระชับของเนื้อหางานวิจัย ประกอบด้วยวัตถุประสงค์ของการวิจัย กลุ่มเป้าหมาย ทฤษฎีที่นำมาใช้ในการวิจัย วิธีการดำเนินการวิจัย การวิเคราะห์ข้อมูล ผลการวิจัย หรือข้อสรุปจากงานวิจัย เป็นต้น
2. ผู้เขียนควรใช้ภาษาทางวิชาการที่กระชับรัดกุม ให้จัดพิมพ์บทคัดย่อในอยู่ใน 1 หน้ากระดาษ จัดพิมพ์ด้วยตัวอักษร TH Sarabun New ขนาด 14 ธรรมดา โดยให้ระยะบรรทัดเป็น 1.0 จัดไฟล์เป็น Microsoft Word 2007 ขึ้นไป
3. กำหนดชื่อไฟล์ดังนี้ สำหรับผู้ที่จะนำเสนอแบบ Oral Presentation ให้กำหนดชื่อไฟล์ดังตัวอย่างคือ Abstract_OP_Rachada.docx และสำหรับที่ผู้ที่จะนำเสนอแบบ Poster Presentation ให้กำหนดชื่อไฟล์ดังตัวอย่างคือ Abstract_PP_Rachada.docx
4. ให้ผู้เขียนลงทะเบียนและส่งบทคัดย่อนี้ทาง Online Submission เท่านั้นทาง https://www.tsmed.or.th
ทั้งนี้ผู้ที่จะนำเสนอผลงานจะต้องสมัครเป็นสมาชิกของสมาคมคณิตศาสตรศึกษาด้วย ข้อกำหนดทางด้านรูปแบบ (Format) และบรรณานุกรมในการเขียนผลงานวิจัยและรายงานการแก้ไขผลงานได้แสดงรายละเอียดไว้ในแบบฟอร์มต่อไปนี้เรียบร้อยแล้ว ผู้เขียนสามารถดาวน์โหลดไฟล์แบบ pdf เพื่อศึกษาข้อมูลล่วงหน้าได้ และดาวน์โหลดไฟล์แบบ Word เพื่อใช้เป็นแม่แบบสำหรับการเขียนก่อนส่งผลงานเข้าระบบต่อไป
- บทคัดย่อ (ทั้งสำหรับผู้ที่ประสงค์จะนำเสนอผลงานแบบบรรยายและแบบโปสเตอร์)
Template-01 (Word), Template-01 (pdf)
- แบบแสดงรายการแก้ไขผลงาน (ใช้สำหรับทุกกระบวนการของการแก้ไขผลงาน)
Template-02 (Word), Template-02 (pdf)
- บทความวิจัยฉบับสมบูรณ์ (สำหรับผู้ที่ได้รับแจ้งผลการพิจารณาให้นำเสนอผลงานแบบบรรยายแล้ว)
Template-03 (Word), Template-03 (pdf)
การเตรียมบทคัดย่อ (สำหรับผู้ที่ประสงค์จะนำเสนอทั้งแบบบรรยายและแบบโปสเตอร์)
ผู้เขียนสามารถดำเนินการตามรายการต่อไปนี้เพื่อเป็นแนวทางในการเขียนบทคัดย่องานวิจัยและการส่งผลงานเข้าระบบได้ตามขั้นตอน
1. ดาวน์โหลดแบบฟอร์ม Template-01 (Word) เพื่อใช้เป็นแม่แบบ และเขียนบทคัดย่องานวิจัยตามข้อกำหนดทางด้านรูปแบบและบรรณานุกรมที่กำหนดไว้ จัดพิมพ์ด้วยโปรแกรม Microsoft Word 2007 ขึ้นไป
2. บทคัดย่องานวิจัยที่จัดพิมพ์ตามแม่แบบแล้วจะต้องมีความยาวไม่เกิน 1 หน้ากระดาษ A4 ตามแบบฟอร์ม (รวมเอกสารอ้างอิงด้วยแล้ว) บทคัดย่อชิ้นใดที่ส่งเข้าระบบมาด้วยความยาวที่มากกว่า 1 หน้า จะถูกส่งกลับคือให้ผู้เขียนแก้ไขก่อนที่จะส่งให้กรรมการกลั่นกรองผลงาน หากผู้เขียนไม่แก้ไขให้เป็นไปตามข้อกำหนด ผลงานนั้นจะไม่ได้รับการดำเนินการต่อไปในระบบ
3. เมื่อเขียนบทคัดย่องานวิจัยเสร็จสิ้นแล้วให้บันทึกไฟล์ทั้งแบบ Word และ Pdf โดยกำหนดรูปแบบการตั้งชื่อไฟล์ ดังนี้
- สำหรับผู้ที่ประสงค์จะนำเสนอผลงานแบบบรรยาย (Oral Presentation) ให้ตั้งชื่อไฟล์เป็น
Abstract_OP_Xxxx ซึ่งหมายถึง Abstract_OP_(ชื่อผู้เขียนเป็นภาษาอังกฤษขึ้นต้นด้วยตัวพิมพ์ใหญ่) เช่น Abstract_OP_Rachada
- สำหรับผู้ที่ประสงค์จะนำเสนอผลงานแบบโปสเตอร์ (Poster Presentation) ให้ตั้งชื่อไฟล์เป็น
Abstract_PP_Xxxx ซึ่งหมายถึง Abstract_PP_(ชื่อผู้เขียนเป็นภาษาอังกฤษขึ้นต้นด้วยตัวพิมพ์ใหญ่) เช่น Abstract_PP_Rachada
4. ใช้ไฟล์ที่ตั้งชื่อตามกำหนดแล้วทั้งแบบ Word และ Pdf ส่งมาในระบบส่งผลงานในหน้า “การส่งผลงานวิจัย”
การเตรียมบทความวิจัยฉบับสมบูรณ์ (สำหรับผู้ที่ได้รับแจ้งผลการพิจารณาให้นำเสนอผลงานแบบบรรยายแล้ว)
1. ดาวน์โหลดแบบฟอร์ม Template-03 (Word) เพื่อใช้เป็นแม่แบบ และเขียนบทคัดย่องานวิจัยตามข้อกำหนดทางด้านรูปแบบและบรรณานุกรมที่กำหนดไว้ จัดพิมพ์ด้วยโปรแกรม Microsoft Word 2007 ขึ้นไป
2. บทความวิจัยฉบับสมบูรณ์ที่จัดพิมพ์ตามแม่แบบแล้วจะต้องมีความยาวระหว่าง 8-10 หน้ากระดาษ A4 ตามแบบฟอร์ม (รวมเอกสารอ้างอิงด้วยแล้ว) บทความวิจัยใดที่ส่งเข้าระบบมาด้วยความยาวที่ไม่เป็นไปตามข้อกำหนดจะถูกส่งกลับคือให้ผู้เขียนแก้ไขก่อนที่จะส่งให้กรรมการกลั่นกรองผลงาน หากผู้เขียนไม่แก้ไข ผลงานนั้นจะไม่ได้รับการดำเนินการต่อไปในระบบ
3. เมื่อเขียนบทความวิจัยฉบับสมบูรณ์เสร็จสิ้นแล้วให้บันทึกไฟล์ทั้งแบบ Word และ Pdf โดยกำหนดรูปแบบการตั้งชื่อไฟล์เป็น Fullpaper_Xxxx ซึ่งหมายถึง Fullpaper_(ชื่อผู้เขียนเป็นภาษาอังกฤษขึ้นต้นด้วยตัวพิมพ์ใหญ่) เช่น Fullpaper_Ratchada
4. ใช้ไฟล์ที่ตั้งชื่อตามกำหนดแล้วทั้งแบบ Word และ Pdf ส่งมาในระบบส่งผลงาน
ผู้ที่จะส่งผลงานวิจัยเข้าในระบบจะต้องมีสถานะเป็นสมาชิกสมาคมคณิตศาสตรศึกษาเท่านั้น หากท่านไม่ได้เป็นสมาชิกสมาคมคณิตศาสตรศึกษาและประสงค์จะส่งบทคัดย่อผลงานวิจัยเพื่อเริ่มต้นกระบวนการพิจารณาผลงาน ท่านจะต้องสมัครสมาชิกสมาคมฯ ก่อน ซึ่งอาจสมัครเป็นสมาชิกแบบรายปีหรือสมาชิกตลอดชีพก็ได้
ลงทะเบียนนำเสนอผลงานทางวิชาการ
ผู้เข้าร่วมแบบประสงค์นำเสนอผลงาน ต้องมีสถานะเป็นสมาชิกสมาคมคณิตศาสตรศึกษาเท่านั้น
(สำหรับผู้ที่ไม่ได้เป็นสมาชิกสมาคมคณิตศาสตรศึกษา)
หากเป็นสมาชิกแล้วกรุณาเข้าสู่ระบบ