สมาคมคณิตศาสตรศึกษา ได้รับเชิญจากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เพื่อเข้าร่วมแถลงข่าวการทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการระหว่างกัน ณ สถาบันการเรียนรู้ตลอดชีวิต สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ภายใต้วัตถุประสงค์หลัก ดังนี้ 1) เพื่อจัดอบรมเชิงปฏิบัติการ หรือการอบรมระยะสั้นระหว่างหน่วยงาน 2) เพื่อร่วมจัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างหน่วยงาน 3) เพื่อแลกเปลี่ยนวิทยากรผู้เชี่ยวชาญในศาสตร์ต่าง ๆ ระหว่างหน่วยงาน สำหรับกิจกรรมการแถลงข่าว จัดขึ้นในวันพุธ ที่ 11 กันยายน 2567 โดย รองศาสตราจารย์ ดร.ไมตรี อินทร์ประสิทธิ์ นักวิจัยที่มีสมรรถนะสูง สถาบันวิจัยและพัฒนาวิชาชีพครูสำหรับอาเซียน มหาวิทยาลัยขอนแก่น ประธานกรรมการมูลนิธิการศึกษาเพื่อการพัฒนาทักษะการคิด นายกสมาคมคณิตศาสตรศึกษา รับสูจิบัตรในงานแถลงข่าว โดยมี อาจารย์ ดร.อาริยา สุริยนต์ อุปนายกสมาคมคณิตศาสตรศึกษา คนที่ 1 อาจารย์ ดร.นิศากร บุญเสนา อุปนายกสมาคมคณิตศาสตรศึกษา คนที่ 2 อาจารย์ ดร.ชนิกา เสนาวงค์ษา กรรมการสมาคมและเหรัญญิก อาจารย์ ณัฐวัตร สุดจินดา กรรมการสมาคม และ อาจารย์ ดร.วีระศักดิ์ แก่นอ้วน กรรมการสมาคมและเลขานุการ เข้าร่วมการแถลงข่าวในครั้งนี้ด้วย สำหรับการลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการระหว่างกัน จะมีขึ้นในลำดับต่อไป
กิจกรรมในการแถลงข่าวมีการเสวนา โดย รองศาสตราจารย์ ดร.คมสัน มาลีสี อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยี พระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ดร.ณพพงศ์ ธีระวร ประธานสมาพันธ์ SME ไทย และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ศิริพันธ์ มรุธาธัญลักษณ์ ผู้อำนวยการสำนักวิชาศึกษาทั่วไป เป็นผู้ดำเนินรายการ ทั้งนี้ รองศาสตราจารย์ ดร.คมสัน มาลีสี อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยี พระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ได้กล่าวถึง ที่มาและความสำคัญของการบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ นี้ว่าสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ให้ความสำคัญกับการพัฒนาหลักสูตรที่ทันสมัย สอดคล้องกับความต้องการของตลาด เพื่อเตรียมนักศึกษาให้พร้อมสำหรับการเป็นพลเมืองโลก (Global Citizen) โดยสนับสนุนการเรียนรู้ ด้วยการปฏิบัติจริงผ่านหลักสูตรของสำนักวิชาศึกษาทั่วไป (General Education) และประเมินผลผ่าน Skills Mapping ที่สามารถระบุทักษะที่โดดเด่นของนักศึกษาแต่ละบุคคล ทั้งนี้การพัฒนาหลักสูตร และผู้เรียน ไม่สามารถกระทำได้โดยลำพัง แต่ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วน ดังนั้นการร่วมมือทางวิชาการ (MOU) นี้ จึงมีความสำคัญในการเชื่อมโยงองค์ความรู้ โดยอาศัยความเชี่ยวชาญจากผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้เชี่ยวชาญในแต่ละศาสตร์ เพื่อร่วมกันผลิตบัณฑิตที่มีทั้งสมรรถนะทักษะ (Hard Skills) และจรณทักษะ (Soft Skills) พร้อมรับกับการทำงานในอนาคต